การพัฒนาจิตใจ เพื่อกำจัดสิ่งที่รังควานหรือทำลายจิตใจนี้มีอยู่มากวันหนึ่งๆ ไม่มีประมาณเลย มีแต่เรื่องสัญญาอารมณ์เครื่องผูกมัดรัดรึงบีบคั้นจิตใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยจะมีอารมณ์ที่ทำจิตใจให้มีความยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบานจิตใจ หรือให้ได้รับความสงบเยือกเย็นเป็นสุขได้บ้าง มีแต่อารมณ์ที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจเป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องพัฒนาจิตใจเพื่อกำจัดสิ่งเหล่านี้ออก ให้จิตได้รับความสงบเยือกเย็น และสิ่งที่จะนำมาแก้ไขหรือซักฟอกสิ่งเหล่านี้ออกนอกจากธรรมแล้วไม่มี ที่นอกจากธรรมแล้วก็มีแต่เครื่องช่วยส่งเสริมให้จิตใจมีความรุ่มร้อนรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการเลย ดังนั้นจงให้เอาธรรมไปพัฒนาจิตใจ
ในชีวิตประจำวัน การมีสติในการใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ ทำการรู้เห็นและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรม จึงมีประโยชน์อย่างมากมายต่อนิสิต ทั้งด้านการศึกษาและการดำเนินชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1. ประโยชน์ด้านการศึกษา
การฝึกพัฒนาจิตใจของตนเองในด้านสติ ด้วยการศึกษาเรื่องสติและฝึกเจริญสติเป็นประจำ จะทำให้นิสิตมีสติตั้งมั่น(มีความตั้งใจแน่วแน่)ในการฟังคำบรรยาย ไม่เผลอสติ ไม่คิดฟุ้งซ่าน ไม่คิดและทำกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จึงทำให้มีการคิด พิจารณา ทำความเข้าใจ จดจำ และบันทึกเนื้อหาที่สำคัญของคำบรรยายไว้ได้เป็นอย่างดี เป็นเหตุให้ผลของการศึกษาดีขึ้น ตามกำลังความสามารถของข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกและข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมที่มีอยู่ในความจำขณะนั้น ถ้าไม่มีสติในการฟัง หรือมีสติน้อย ความคิดฟุ้งซ่านก็มักจะมากขึ้น อาจมีการใช้เวลาไปคิดและทำเรื่องอื่นบ่อยขึ้น ทำให้ความสามารถของสมองในการคิดและการจดจำลดลง และผลการเรียนก็จะต่ำลงด้วย
2. ประโยชน์ด้านการดำเนินชีวิต
การพัฒนาจิตใจของตนเอง ด้วยการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะเป็นผลดีต่อจิตใจดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริมสุขภาพจิตให้มีความเข้มแข็ง และอดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในขณะดำเนินชีวิต รวมทั้งในยามเจ็บป่วย โดยไม่มีความทุกข์ทางจิตใจ เช่นเดียวกันกับการมีสุขภาพกายที่ดี ทำให้สามารถต่อสู้กับภารกิจทางกาย และความเจ็บป่วยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี.
2. ป้องกันความทุกข์ทางจิตใจได้ทุกขณะ เพราะเมื่อสมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ สมองก็จะทำหน้าที่ในการใช้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจคล้ายอัตโนมัติ ถ้ามีการศึกษาและฝึกฝนจนชำนาญ เช่นเดียวกันกับการที่สมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งสมองก็จะทำหน้าที่ได้เองคล้ายอัตโนมัติ ถ้าได้ศึกษาและฝึกซ้อมมาก่อน
3. รักษาความทุกข์ทางจิตใจได้ทุกขณะ เพราะเมื่อสมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำ สมองก็จะสามารถทำหน้าที่ในการใช้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อการรักษาความทุกข์ทางจิตใจที่กำลังมีอยู่ได้ทุกขณะที่ต้องการ เช่นเดียวกันกับการที่สมองมีข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกและใช้ข้อมูลดังกล่าวในการรักษาความทุกข์ทางกายที่เกิดขึ้นเมื่อต้องการรักษา ซึ่งเป็นการพึ่งพาข้อมูลสติปัญญาของตนเอง