การพัฒนาจิตใจด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ปัจจุบันสภาวะการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปสู่ระดับการพัฒนาที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจน้อย ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดปัญหาอันเกิดจากความขัดแย้งในสังคมที่ไม่พึงปรารถนาหลายประการ จำเป็นจะต้องเน้นการพัฒนาจิตใจคนให้เป็นคนดี มีวินัย และคุณธรรม ตลอดจนอนุรักษ์พัฒนาศิลปวัฒนธรรมให้สมดุลกับการพัฒนาควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสที่ยังไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุขโดยมีเป้าหมายพัฒนา

การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีจึงควรเน้นที่การพัฒนาจิตใจตนเองเป็นอันดับแรก

เพื่อให้บุคคลนั้นสามารถจัดการชีวิตได้ดีเนื่องจากจิตใจที่ขาดความเข้มแข็ง ขาดพลังแห่งความมุ่งมั่น ขาดกำลังใจจะไม่สามารถนำพาชีวิตไปให้ไกลได้ การพัฒนาจิตโดยการทำสมาธิจะช่วยให้จิตมีความสงบมั่นคง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเราอยู่ในสถานการณ์กดดัน อาทิเช่น ถูกติเตียน ดูถูก นินทา สบประมาท ฯลฯ และเราแก้ปัญหาด้วยการแสดงความน้อยใจ ผิดหวัง โกรธ  เกลียดหรือตอบโต้ด้วยการประชดชีวิต จะทำให้เราดำเนินชีวิตผิดพลาดจนได้รับเคราะห์กรรมได้

จิตเป็นตัวดำเนินงานและเป็นแรงงานสำคัญ

ถ้าจิตได้รับการอบรม การพัฒนาให้มีความฉลาดมีเหตุมีผล รอบคอบในสิ่งดีและชั่วทั้งหลายพอประมาณ ย่อมจะดำเนินกิจการต่างๆไปด้วยความราบรื่นดีงามไม่ค่อยผิดพลาด ผิดกับจิตที่ไม่ได้รับการอบรมการพัฒนาอยู่มาก การพัฒนาจิตก็เท่ากับการส่งเสริมความฉลาด รอบคอบในกิจการต่างๆให้ดียิ่งขึ้น ความเจริญทางจิตใจที่ได้รับการอบรมการพัฒนาย่อมเป็นผลดีกว่าความเจริญทางด้านวัตถุที่ไม่ได้พัฒนาจิตไปพร้อมกันอยู่มาก ดังนั้นการพัฒนาจิตเพื่อความรอบคอบในตนและกิจการทั้งหลาย จึงควรสนใจอย่างน้อยให้พอๆกันกับการพัฒนาทางด้านวัตถุ

ปัจจุบันการพัฒนาจิตใจควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านวัตถุมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะพัฒนาการด้านวัตถุอย่างเดียวก่อให้เกิดปัญหามากมายด้วยความเครียดและความเห็นแก่ตัวของบุคคลในสังคม เพื่อป้องกันและขจัดปัญหาดังกล่าว จึงควรส่งเสริมให้ทุกคนพัฒนาจิตด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นการพัฒนาจิตให้รู้เท่าทันโลก รู้จักชีวิตตามความเป็นจริง เพื่อลดละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน อันจะเป็นผลให้จิตบริสุทธิ์และเกิดปัญญา การฝึกพัฒนาจิตใจของตนเองในด้านสติด้วยการศึกษาเรื่องสติและฝึกเจริญสติเป็นประจำจะทำให้นิสิตมีสติตั้งมั่น จึงทำให้มีการคิด พิจารณา ทำความเข้าใจ จดจำ และบันทึกเนื้อหาที่สำคัญของคำบรรยายไว้ได้เป็นอย่างดี