พัฒนาการทางจิตใจเป็นขบวนการที่สำคัญยิ่งในชีวิตมนุษย์ ที่ควบคู่มากับการพัฒนาการทางร่างกาย มนุษย์แต่ละคนที่เกิดขึ้นมาควรมีโอกาสได้พัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ ให้เต็มศักยภาพที่ได้รับมาตามธรรมชาติ อะไรที่เป็นธรรมชาติเรายังมีความสามารถไปแก้ไขได้น้อยมากในขณะนี้ เช่น พันธุกรรมด้านต่างๆที่ติดตัวมาเนื่องจากได้ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ของตน เช่น สีผม รูปร่าง ความฉลาด โรคบางชนิด แต่ส่วนที่เราสามารถทำได้ดีคือ ส่วนที่เป็นพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและหลังจากเด็กคลอดออกมาแล้วโดยจัดสิ่งแวดล้อม ให้เหมาะสมที่สุดที่เด็กจะพัฒนาไปอย่างเต็มที่เพื่อให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพต่อตนเอง และสังคมส่วนรวมต่อไป
พัฒนาการที่เหมาะสมจะเป็นการป้องกัน จิตพยาธิสภาพ (psychopathology) ต่างๆ ได้มากมาย 1เช่น บุคลิกภาพปรวนแปรต่างๆที่มีความร้ายแรงไม่แพ้โรคร้ายๆทางกาย คล้ายโรคมะเร็ง เบาหวานและโรคอื่นๆ ตัวอย่าง เช่น ผู้ที่มีบุคลิกภาพอ่อนแอต้องพึ่งพิงผู้อื่นเสมอ ช่วยตัวเองไม่ได้ ตัดสินใจไม่ได้เอง อารมณ์ปรวนแปรเสมอ ก็มีสภาพไม่ต่าง
กับผู้ที่มีโรคร้ายที่ทำให้เป็นอัมพาตจนเดินไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ป่วยทางใจแบบนี้ก็เปรียบเสมือนมีอาการ “อัมพาต” ทางจิตคือ ร่างกายสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวัย แต่กลับต้องเป็นภาระของผู้อื่นอีก ฉะนั้น พัฒนาการทางจิตใจที่ดีจึงจะช่วยให้คนๆ นั้นเติบโต มาแล้วมีความปกติสุขต่อไป
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางจิตใจ
เมื่อแรกเกิดมนุษย์มีสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย2,3 ต่างจากสัตว์โลก อื่นหลายชนิด เช่น เต่าออกจากไข่จะสามารถคลานลงทะเลไปหากินเองได้เลยโดยไม่ต้อง พึ่งพ่อแม่ สภาพช่วยตัวเองไม่ได้ของทารกนี่เองที่ทำให้พัฒนาการของมนุษย์เราขึ้นกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมมาก สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจึงจะสามารถทำให้ทารกมีพัฒนาการที่ดีที่เหมาะสม
ถึงอย่างไรก็ตามปัจจัยทางชีวภาพก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่ก็ยังเป็นรองกว่าปัจจัยจาก สิ่งแวดล้อม เนื่องจากพัฒนาการทางจิตใจมีปัจจัยหลายอย่างมาก แต่พอจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ
1. ปัจจัยทางชีวภาพ (Biological factors) คือสิ่งที่ติดตัวเด็กมาแต่ แรกเกิด
2. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental factors) สิ่งแวดล้อมคือ สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กที่เด็กมาปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดและพัฒนาตนเอง จนกระทั่งมี ลักษณะเฉพาะของตัวเอง
พัฒนาการทางจิตใจเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คนเราเป็นคนที่มีคุณภาพดี มีจิตใจปกติ สามารถมีความสุข มีความรับผิดชอบ ปรับตัวได้ในสถานการณ์ต่างๆ สามารถทำหน้าที่ของตนได้ในครอบครัวและสังคมที่ตนอยู่ อีกทั้งไม่สร้างความเดือดร้อน เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น พัฒนาการที่ดีต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางชีวภาพของเด็กกับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมที่เด็กเติบโตมา
ผู้เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูเด็กจึงมีความจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจบทบาทของตนที่จะช่วยพัฒนาเด็ก และป้องกันปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ หรือเมื่อพบว่ามีความเบี่ยงเบนของพัฒนาการก็ควรรีบแก้ไข ทำเองหรือขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์เด็ก หรือบุคลากรทางสุขภาพจิตอื่นๆ แต่ถึงอย่างไรการป้องกันย่อมดีกว่ารอให้ปัญหาเกิดขึ้นเสียก่อนเสมอ