“สุขภาพจิตของตัวเองถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเราจะต้องดูแลตัวเองให้ดีก่อนจึงแบ่งปันสู่คนอื่นได้ การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม รวมถึงต้องสามารถเผชิญกับปัญหาและความจริงของชีวิตได้ดี มีภูมิคุ้มกัน เมื่อนั้นเราก็จะมีสุขภาพจิตที่ดี”
“สุขภาพจิตใจ” เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตที่เป็นสุข ฉะนั้น การ “ส่งเสริมสุขภาพจิต” จะช่วยให้คนในสังคม ปรับชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ทั้งการเรียน การทำงาน สังคม ความคิด และอารมณ์ ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชได้ โดย ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายหลักการส่งเสริมสุขภาพจิตให้ฟังว่า สามารถทำได้โดยการสร้างปัจจัยป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงของสาเหตุปัญหาสุขภาพจิต ดังนี้
- การส่งเสริมสุขภาพร่างกาย ให้แข็งแรงปราศจากโรคด้วยการออกกำลังกาย
- การส่งเสริมทางจิตใจ เช่น การฝึกสู้ปัญหาให้เกิดความเคยชิน ไม่หลบเลี่ยง พัฒนาตนเองให้ปรับตัวได้มากขึ้นเมื่อพบปัญหา มองโลกในแง่บวก สนุกไปกับการเปลี่ยนแปลง หาทางแก้ปัญหาอย่างท้าทายและลงมือแก้ไขที่สาเหตุ หรือไม่ก็หากิจกรรมสร้างความสุขคืนความสงบให้กับตัวเอง การมีความสุขจากการเป็นผู้ให้ก็ย่อมทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ การมีที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้และให้คำแนะนำ ก็ช่วยให้หลายคนห่างไกลจากการป่วยด้านสุขภาพจิตได้
3.เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับตนเอง ด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย เน้นสงบปราศจากสิ่งเร้า ที่สำคัญควรจัดแบ่งเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนหย่อนใจให้สมดุลกัน เช่น ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย 8 ชั่วโมง อีก 8 ชั่วโมงที่เหลือคือเวลานอน และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เหล้า บุหรี่
แต่ถ้าหากไม่สามารถแก้ไขที่สาเหตุได้ ยังมี “เทคนิคการผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเอง” เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.นพ.พนม แจงว่า สามารถทำได้ผ่านการ ฝึกสมาธิ สติ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกลมหายใจ (breathing exercise) เล่นกีฬาที่ได้ระบายอารมณ์แต่มีกติกาปลอดภัย นวดกล้ามเนื้อที่มีการหดเกร็งปวดให้คลายออก ช่วยให้ความเครียดลดลง โดยผู้นวดต้องได้รับการฝึกอย่างดี การไปพักผ่อนในที่ผ่อนคลาย หรือการฟังดนตรีนุ่มนวลจังหวะไม่เกิน 60 ครั้งต่อนาที ไม่ควรมีเนื้อร้อง และควรเป็นเสียงธรรมชาติ การทำงานศิลปะต่างๆ ก็สามารถทำให้ผ่อนคลายได้เช่นกัน
“อีกวิธีหนึ่งคือการฝึกประสาทอัตโนมัติ ซาวน่า โดยการแช่ในน้ำเย็นจัดสลับกับการอบไอน้ำร้อนจัด อย่างละ 10-20 นาที เพื่อให้ประสาทอัตโนมัติเกิดการเปลี่ยนแปลงตามอย่างรวดเร็ว แต่วิธีนี้ควรทำเมื่อร่างกายแข็งแรง” ผศ.นพ.พนมกล่าวกำชับ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวโดยสรุปว่า การเรียนรู้เตรียมตัวและฝึกฝนให้เผชิญกับชีวิต สามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยผู้ปกครองควรส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ผ่านความสุขแบบพอเพียงตามแนวคิดโครงการ Happy Workplace โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้พัฒนาเป็นบุคลิกภาพที่ดี มีสุขภาพจิตที่ดี ในอนาคต ซึ่งช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และมีความสุขในการดำเนินชีวิตสืบไป