การบริหารจิตใจให้แน่วแน่มั่นคงและเจริญปัญญา

20100003_13022115150035_237
ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราควรเรียนรู้ ควรเข้าใจกฏเกณฑ์และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะชีวิตเรากับธรรมชาติที่แวดล้อมล้วนแต่มีคุณค่าที่เท่าเทียมกันจึงควรสนใจศึกษาให้ถ่องแท้โดยไม่ต้องไปสนใจกับพวกลาภยศชื่อเสียง ซึ่งเปรียบประดุจความฝัน มันไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไรที่เราจะไปหมายมั่นยึดถือเป็นเจ้าของ การฝึกจิตปฏิบัติธรรมนอกจากเรามีสติแล้วจะต้องมีสัมปชัญญะด้วย คือการมีความรู้สึกตัวทั่วถึงว่าในขณะนั้นๆกำลังทำ พูดหรือคิดอะไรเป็นการรู้เท่าทันการณ์แล้วพิจารณาว่าจะเอาไว้หรือสลัดออกไปจากจิต เพราะการดำเนินชีวิตต้องประพฤติธรรมไปด้วยเพื่อเวลาที่เราฟังอะไรจะได้ยิน ดูอะไรจะได้เห็น ไม่ปล่อยจิตใจให้ล่องลอยไป โดยขาดสติสัมปชัญญะ เมื่อเราปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ย่อมแลเห็นความงดงาม ความอัศจรรย์ใจซึ่งประจักษ์อยู่ต่อหน้าเรา

พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องการฝึกจิตเป็นสำคัญ เพราะมนุษย์มีจิตเป็นตัวนำการกระทำทุกอย่างจะต้องมีการพิจารณา คิดนึกตรึกตรองเสียก่อน การฝึกจิตหรือการบริหารจิตจึงเป็นการกระทำเพื่อให้จิตมีสภาพตั้งมั่น มีสติระลึกได้ มีสัมปชัญญะรู้สึกตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา การบริหารจิตให้เจริญและประณีตยิ่งขึ้น มีความปลอดโปร่ง มีความหนักแน่นมั่นคงโดยเริ่มจากการฝึกฝนจิตให้เกิดสติและฝึกสมาธิให้เกิดขึ้นในจิต ในการที่จะให้จิตมีสติได้นั้นผู้ฝึกต้องมีวิธีการดังนี้คือ การตั้งใจให้มีสติปสัมปชัญญะอยู่เสมอ การคบกับคนผู้มีสติปัญญามั่นคง การไม่คบคนที่มีจิตใจฟุ้งซ่านปั่นป่วนและการมีใจน้อมไปในการมีสติคืออยากจะมีสติมั่นคง

การบริหารจิตและเจริญปัญญา

1.การตั้งใจให้มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ คือผู้ฝึกจะต้องตั้งใจกำหนดรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องใคร่ครวญทำช้าๆ อย่ารวดเร็วเกินไป และมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่เสมอ
2.การคบกับคนผู้มีสติปัญญามั่นคง คือพยายามเข้าสมาคมกับคนผู้มีสติปัญญามั่นคงด้วยการทำ การพูด และการแสดงออกอื่นๆ
3.การไม่คบคนที่มีจิตใจฟุ้งซ่านปั่นป่วน คือคนใดที่มีสติฟั่นเฟือน หลงๆ ลืมๆ ซึ่งมีการกระทำการพูดผิดๆ ถูกๆ อยู่ตลอดนั้น
4.การมีใจน้อมไปในการมีสติ คืออยากเป็นคนมีสติมั่นคงโดยตัวเราเองต้องพยายามขวนขวายปลุกใจให้เห็นคุณค่าในการมีสติสัมปชัญญะแล้วปฏิบัติธรรมเพื่อนำจิตของตนให้เป็นสมาธิ