วิธีบริหารจิตเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

Happy Young Woman

 

การควบคุมจิตมีผลต่อสุขภาพร่างกาย สมอง และจิตใจ พอๆ กับการบริหารกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อการพัฒนาสมองด้วยการกระตุ้นให้เกิดการงอกความคิดใหม่และการปรับวงจรใหม่ของเซลล์สมอง ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาจิตใจให้สมบูรณ์ และมีความสุขสงบ

1. นอนหลับให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง/ต่อวัน

การนอนหลับดีมีผลต่อการพัฒนาสมอง หลีกเลี่ยงการอดนอนและการมีอารมณ์เครียดติดต่อกันนานๆ เพราะมีผลลบต่อร่างกาย สมอง และจิตใจ

2. ฝึกสมาธิ

ฝึกสวดมนต์ นั่งสมาธิ ไหว้พระ เดินจงกรม อธิษฐานจิตวันละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที ช่วยให้จิตใจมั่นคงสงบนิ่ง ไม่วอกแวก ฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิ หรือใจลอยง่าย  ควรรักษาจิตที่นั่งแต่ตื่นรู้ไว้ตลอดเวลาของการปฏิบัติสมาธิ อย่าให้นานจนหลับหรือเข้าสู่ภวังค์ จะทำให้จิตเฉื่อยเนือย นำมาใช้งานในการรับรู้สิ่งเร้าอย่างรู้เท่าทันไม่ได้ ซึ่งต่างจากสติ

3. ฝึกพักใจและสมองเป็นระยะ ๆ ในแต่ละวัน

หยุดคิด โดยหันมาชื่นชมธรรมชาติ หรือศิลปะ ตามดูห้วงว่างระหว่างความคิด ลมหายใจเข้าออกและเสียงต่างๆ หามุมสงบในบ้าน ในที่ทำงาน หรือในสวน นั่งปล่อยวางอารมณ์อย่างเงียบๆ การพักใจและสมองช่วยให้มีพลังในการทำงานได้ไม่เหนื่อยล้า

4. ฝึกคิดดี-พูดดี-ทำดี ให้เป็นนิสัย

ช่วยถ่วงดุลกับธรรมชาติของจิตที่มักคิดลบซึ่งเป็นไปตามกลไกลมองที่มักถูกครอบงำด้วยความมีอัตตาตัวตน นิสัยความเคยชินเดิม และอารมณ์ลบ

ออกกำลังกาย

วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก เป็นต้น ในการออกกำลังกายสามารถบริหารจิตไปในตัว โดยการใช้สติระลึกรู้อยู่กับจังหวะการเคลื่อนไหว ในช่วงแรกอาจใช้วิธีนับ เช่น นับซ้าย-ขวา นับ 1-2 หรือ 1 ถึง 10 กับจังหวะก้าว เป็นตัวช่วยจนสติมั่น ก็ไม่ต้องนับ

นอกจากนี้ควรหมั่นมีจิตอาสาทำงานเพื่อคนอื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น , ฝึกฟังคนอื่นและเข้าใจคนอื่น , รู้จักให้กำลังใจผู้คนรอบข้าง ,  ฝึกตามดูรู้ทันความคิด อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมตัวเองได้ดี