โลกได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัยตามกาลเวลาตั้งแต่ยุคสังคมเกษตร ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม จนมาถึงยุควิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือยุคไร้พรหมแดน ที่ทำให้ชีวิตของมนุษยชาติเปลี่ยนแปลไป เพราะชาวโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วยิ่งจนทั่วทั้งโลกเสมือนเป็นชุมชนเดียวกัน คือชุมชนมนุษยชาติ
ดังนั้นโลกปัจจุบันติดต่อสื่สารกันได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายประกอบกับการเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจและการค้า ทุกสังคม ทุกประเทศจึงต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ในทุกด้านเพื่อความอยู่รวดของสังคม และคนในสังคมนั้น เครื่องมือที่จะช่วยให้สังคมอยู่รอดและสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในสังคมอารยประเทศได้ คือการสร้างสังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้ เมื่อสร้างปัญญาให้กับคนอันจะช่วยให้คนทุกคนพ้นจากความไม่รู้ ความลุ่มหลงมัวเมา และความยากจนข้นแค้น เพราะปัญญาที่เกิดจากการศึกษาและการเรียนรู้จะทำให้คนรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักคิด รู้จักทำและแสวงหาหนทางในการเลี้ยงชีพ และการดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
ในบรรดารูปแบบและวิธีการที่หลากหลายในการเรียนรู้ของมนุษย์ เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์ใช้เรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นความประณีตละเอียดอ่อน
การเล่าเรื่องและการเรียนรู้จากเรื่องเล่าเป็นความสามารถที่มนุษย์มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เด็กเล็กๆ จึงสามารถเรียนรู้โลกจากการฟังเรื่องเล่ามาเนิ่นนานก่อนหน้าที่จะรู้จักตัวเลขและการคำนวณ อาจกล่าวได้ว่า สัญชาตญาณการเรียนรู้จากเรื่องเล่านี้เองที่ทำให้มนุษย์เข้าใจความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่ซับซ้อนได้แตกต่างไปจากสัตว์
เพราะมนุษย์ทำความเข้าใจโลกผ่านเรื่องเล่าและการเล่าเรื่องเป็นสำคัญ โลกและการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งจึงปรากฏในความรับรู้ของมนุษย์ในรูปของเรื่องราว
ในวัฒนธรรมต่างๆ มีเรื่องเล่ามากมายที่สังคมใช้บอกกล่าวเล่าความเป็นไปของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการกำเนิดโลกและตำนานปฐมกาลในศาสนาต่างๆ หรือแม้แต่ทฤษฎีการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) ก็เป็นความพยายามที่จะบอกเล่าและเข้าใจโลกในฐานะของเรื่องราวที่มีจุดกำเนิด มีการคลี่คลายที่ดำเนินต่อเนื่องมาจนเป็นโลกที่เรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
จารีตความรู้ต่างๆ ในอารยธรรมมนุษย์แต่ครั้งประวัติศาสตร์ก็อาศัยเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นมหากาพย์ ตำนาน นิทาน หรือชาดก ในการปลูกฝังมโนทัศน์ ถ่ายทอดแง่คิด รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่มนุษยชาติมาโดยตลอด
แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่เรามักเชื่อกันว่ายึดถือความรู้ที่เน้นเฉพาะข้อเท็จจริงและการตรวจวัดในเชิงปริมาณ ก็ยังต้องเรียนรู้และถ่ายทอดความคิดผ่านเรื่องเล่า ดังเรื่องราวของกาลิเลโอผู้หย่อนวัตถุที่หนักเบาต่างกันลงจากหอเอนเมืองปิซา หรือนิวตันผู้ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วงเมื่อลูกแอ๊ปเปิ้ลหล่นใส่ศีรษะ แม้ว่าเรื่องทั้งสองจะเป็นเพียงเรื่องเล่าลือที่ไม่เคยปรากฏมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ก็เป็นเรื่องเล่าที่ถูกบอกเล่าเสมอในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดความอัศจรรย์ของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการหาความรู้จากการทดลอง