ความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับความเครียด

4

สุขภาพจิตใจเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตที่เป็นสุขการส่งเสริมสุขภาพจิตใจช่วยให้ปรับตัวในชีวิตให้เป็นประโยชน์ ทั้งการเรียน การทำงาน สังคม ความคิดและอารมณ์เป็นปกติ ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช สภาพจิตใจที่เป็นสุข สามารถมีสัมพันธภาพและรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่นไว้ได้อย่างราบรื่น สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์ได้ภายใต้ภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม และลักษณะความเป็นอยู่ในการดำรงชีพ วางตัวได้อย่างเหมาะสม และปราศจากอาการป่วยของโรคทางจิตใจและร่างกาย

ชีวิตคนตั้งแต่เกิดมาต้องมีการปรับตัวให้เกิดความสมดุลในการดำรงชีวิตความเครียดคือผลรวมของปฏิกิริยาตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลง หรือสถานการณ์ต่างๆ ความเครียดที่เหมาะสมจะกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวแก้ไขปัญหาเกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์แต่ความเครียดที่มากเกินไปเป็นผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ เกิดความไม่สบายใจทำให้เกิดอาการต่างๆ ทำให้ปรับตัวไม่ได้แก้ไขปัญหาได้ต่ำกว่าความสามารถที่แท้จริงหรือเกิดโรคทางร่างกายหลายโรคที่อาการเกิดขึ้นสัมพันธ์กับความเครียดความเครียดจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนจะต้องเผชิญและฝึกฝนเอาชนะ แก้ไขปัญหาไม่เกิดอาการของความเครียดคนที่สุขภาพจิตดีคือคนที่มีวิธีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆหรือความเครียดได้ดี

คนสุขภาพจิตไม่ดีเมื่อเผชิญปัญหาในชีวิตจะเกิดอาการต่างๆทางจิตใจ อารมณ์ แสดงพฤติกรรมบางอย่างหรือปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายซึ่งแสดงภาวะไม่สมดุล บางคนอาจมีอาการแสดงออกมาเล็กน้อย เรียกว่าปัญหาสุขภาพจิตหรือมีมากจนเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่าโรคทางจิตเวชอาการทางอารมณ์ความเครียดทำให้ทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกวิตกกังวล กลัว ตื่นเต้น ไม่สบายใจ บางคนมีอารมณ์ซึมเศร้าท้อแท้ร่วมด้วย เบื่อ หงุดหงิด ไม่สนุกสนานสดชื่นร่าเริงเหมือนเดิม อารมณ์ซึมเศร้ามักเกิดร่วมกับการสูญเสียหรือพลาดหวังอย่างรุนแรง อารมณ์ไม่สบายใจเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการอื่นๆตามมา ได้แก่ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เพลีย เหนื่อยง่าย เหนื่อยหน่าย อาการทางจิตใจความคิดมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ คิดไม่ดีคิดร้ายความคิดกังวลล่วงหน้าย้ำคิดย้ำทำ ไม่สามารถหยุดความคิดตนเองได้ความคิดควบคุมไม่ได้  คิดมาก มองตนเองไม่ดี มองคนอื่นไม่ดี มองโลกในแง่ร้าย ความเครียดถ้ามีมากและต่อเนื่องจะทำให้สมองมึน งง เบลอ ขาดสมาธิ ความคิดความอ่านและความจำลดลง การตัดสินใจช้า ไม่แน่นอน ไม่มั่นใจตนเอง